สัตว์เลี้ยงเวอร์ชวล Tamagotchi uni



ทามาก็อตจิ เป็นอีกทางเลือกนึง สำหรับคนที่อยากมีสัตว์เลี้ยงแบบที่ไม่ต้องดูแลอะไรมาก
ในต่างประเทศเรียก สัตว์เลี้ยงเสมือนจริงแบบนี้ ว่า Virtual pet (ชื่อย่อV-Pet) มากกว่าจะเรียกว่า Digital pet (สัตว์เลี้ยงดิจิตอล) เหมือนในไทย

ทุกปีสองปี Tamagotchi ก็จะมีรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ แต่ละรุ่นก็จะมีลูกเล่นต่างกัน(ถ้าใครเล่นเกมโปเกมอน ก็จะรู้ว่าแต่ละภาคจะมีจุดขายใหม่ตลอด) และรุ่นล่าสุด ก็คือ Tamagotchi Uni ออกปี 2023
ส่วนรุ่นอื่นๆที่หาได้ในไทยก็ Tamagotchi Pix ซึ่งว่ากันว่ามีเนื้อหาครบเครื่องกว่า Uni กับ พวกรุ่นจอขาวดำ ที่ทำมาขายใหม่อย่าง Gen1 Gen2

ราคาของ ทามาก็อตจิ ยูนิ ผมเจอราคาถูกสุดคือ 2,054 บาท จากร้านหนังสือ Kinokuniya(เดือน8/2024)
ได้ยินว่าก่อนหน้านี้ Dreamtoy เอามาลงขายตามเว็ปและแอปขายของดังๆ ในราคาที่ถูกกว่าคิโนะ แต่ตอนนี้หมดแล้วครับ ทำให้ตามเว็ปพวกนั้น เหลือแต่เจ้าที่ขายราคาค่อนข้างแพง
แต่ถ้าหาตามกลุ่มซื้อขายทามาก็อตจิใน Facebook ก็อาจจะได้ถูกกว่านี้
ส่วนรุ่นจอขาวดำจะถูกกว่ามาก ราคาไม่กี่ร้อยเองครับ

ในกล่อง จะใส่ทามาก็อตจิมาพร้อมกับสายนาฬิกา แต่ตัวสายถอดออกได้ จนเหลือแต่ตัวเครื่องกลมๆ
ความประทับใจแรก ของรุ่น Uni คือ จอภาพสีสันสวยงามมากก ขนาดผมชินกับภาพเกมสวยๆบนมือถือแล้ว ยังรู้สึกว่ามันสวยทุกครั้งที่มองเลย ตัวทามาก็อตจิเอง ก็ขยับตัวได้หลายแบบ ดูไม่เบื่อเลย
ตัวละครบางตัวมีเสียงพูดเป็นภาษาต่างดาวให้ได้ยิน ฟังแล้วน่ารักดี

ปุ่มกดก็ใช้งานง่าย ผมสามารถใช้มือเดียว จัดการทุกอย่างในเครื่องได้สบาย เมนูเข้าใจง่าย เพราะถูกออกแบบมาให้เด็กเล่น

ทามาก็อตจิแต่ละตัว จะมีนิสัยต่างกัน มีทั้งขี้อาย คึกคัก สบายๆ หรือ เอาแต่ใจ ซึ่งนิสัยของแต่ละตัวจะแสดงออกมาเป็นท่าทางในสถานการณ์ต่างๆ เช่นตอนอยู่เฉยๆในห้อง ตอนโต้ตอบกับคนเลี้ยง ตอนไปเจอตัวอื่นๆผ่านเน็ต
และทุกวันตอน1ทุ่ม พวกมันก็จะถ่ายชีวิตประจำวันของตัวเองไปโพสลงโซเชียลด้วย
เราสามารถกดขอ QR โค้ด จากตัวเครื่อง เพื่อโหลดรูปจากโซเชียลของทามาก็อตจิ มาเก็บลงมือถือเราได้

วิธีการดูแล ก็มีทั้งให้อาหาร ขนม อาบน้ำ ล้างอึ และเล่นเกมเพื่อเอาเงินมาซื้ออาหารและขนมดีๆ
ทามาก็อตจิ พอโตแล้วจะไม่ชอบกินอาหารแบบฟรีๆ ที่มีให้กินไม่อั้น เราต้องพามันเล่นเกมผ่านเมนู Arcade เพื่อหาเงินมาสั่งซื้ออาหารหรูๆจาก Delivery  หรือของตกแต่งต่างๆ
เกมที่เล่นได้ จะมีอยู่ 6 เกม มีสองเกมที่เล่นได้ตลอด ส่วน อีก 4 เกม จะวนให้เล่นไปตามฤดูกาล นอกจากนี้ก็มีเกมอื่นๆอีกในโหมด Tamaverse และจากเนื้อหาเสริม

รุ่น Uni จะมีข้อดีตรงที่ว่า ตัวสัตว์เลี้ยง จะไม่เรียกร้องให้เราดูแลบ่อยมาก เหมือนรุ่น Pix  ยกเว้นช่วงชั่วโมงแรกที่พึ่งฟักมาจากไข่ ต้องให้อาหารถี่หน่อย

ถ้าวันไหนเราไม่มีเวลาเล่นหาเงินในเครื่องเพื่อซื้ออาหารที่ถูกใจทามาก็อตจิที่โตแล้ว ก็ยัดอาหารฟรีให้ก็ได้ครับ แต่จะทำให้ค่าความสุขลดลง ซึ่งก็แก้ด้วยการให้กินขนมฟรีๆอย่าง Jelly Bean เพื่อดึงค่าความสุขกลับขึ้นมา

สำหรับเจ้าของที่ต้องไปทำงาน และพกทามาก็อตจิไปด้วยไม่ได้ เราก็สามารถเรียกพี่เลี้ยงเด็ก(Sitter) มาดูแลได้ด้วย โดยจะมาดูแลให้ตั้งแต่ เวลาที่ทามาก็อตจิ ตื่น (7โมงเช้า) จนถึง 6 โมงเย็น   ถ้าใครออกจากบ้านไปทำงานเวลาไหน ก็ตั้งเวลาของตัวเครื่องให้ทามาก็อตจิตื่น ก่อนเราไปทำงานซักครึ่งชั่วโมงก็ได้ จะได้มีเวลาเรียกพี่เลี้ยงมาดูแล แต่ก็จะทำให้เวลาในเครื่องไม่ตรงกับเวลาจริงๆ
ทามาก็อตจิเด็กจะหลับตอน 9:00 pm  ตัวที่โตแล้วจะหลับตอน 4 ทุ่ม
วันไหนผมไปทำงาน ผมจะหยิบตัวเครื่องมาดูหลังจากกลับบ้านแค่ไม่กี่ครั้งเอง เพราะเวลาอยู่กับพี่เลี้ยง ค่าต่างๆจะไม่ค่อยลด

ลูกเล่นต่างๆ

1. ของเล่น และเฟอร์นิเจอร์ - เราสามารถวางของเล่นทิ้งไว้ในห้องนั่งเล่น หรือเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ได้ ทามาก็อตจิแต่ละตัวจะมีของเล่นที่ชอบต่างกัน และอาจจะชอบถึงขนาดเอาไปเล่นในห้องนอน 
บางครั้งทามาก็อตจิจะแสดงความรู้สึกออกมาว่าชอบไม่ชอบเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในห้อง และถ่ายรูปไปลงโซเชียล ถ้าเราเอาเฟอร์นิเจอร์ตัวโปรดของทามาก็อตจิออกไปจากห้อง ก็จะทำให้พวกมันเศร้าลง

นอกจากนี้ในเมนูของเล่น จะมีหุ่นยนต์ทำความสะอาดให้เราเลือกใช้ทำความสะอาดห้องได้ด้วย

2. Tama Walk - ถ้ากดเข้าโหมดนี้ จะเป็นการพาทามาก็อตจิไปเดินเล่น ซึ่งเป็นโหมดที่จะนับการเดินของเรานอกบ้านจริงๆ ทามาก็อตจิจะสามารถเจอกับพวกมันตัวอื่น ได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆของโลกทามาก็อตจิ และได้วัตถุดิบสำหรับสร้างของมาเป็นรางวัล

3. Tama Search - กดปุ่มสุดท้ายตอนอยู่ในห้องนั่งเล่น เพื่อเข้าโหมดนี้ ทามาก็อตจิจะออกไปท่องเที่ยวแล้วเจอกับตัวละครอื่น โดยชนิดตัวละครที่เจอจะขึ้นอยู่กับสัญญาณ wifi รอบตัวเราที่เครื่องจับได้ และถ้าได้เจอกับตัวไหนบ่อยๆ สัตว์เลี้ยงของเราก็จะชวนเพื่อนตัวนั้นมาเที่ยวที่บ้านได้

4. การซื้อข้าวของต่างๆ - เราสามารถใช้เงินที่ได้จากการเล่นกับทามาก็อตจิ ไปซื้อของต่างๆได้หลายอย่าง ทั้งห้องใหม่ ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ ของประดับตัวสัตว์เลี้ยง เสื้อผ้า หรือจะสั่งอาหารดีๆมาตุนไว้ก็ได้
บางวันสินค้าต่างๆก็ลดราคา 50% ด้วยครับ

5. การสร้างของ - เป็นการเอาวัตถุดิบที่ได้จากโหมด Tama walk มาสร้างของประดับร่างกาย รวมทั้งย้อมสีตามต้องการ

6. Tama Pet - สัตว์ตัวเล็กๆจะเยี่ยมที่บ้านทามาก็อตจิ ถ้าเราเอาของเล่นหรือเฟอร์นิเจอร์บางชนิด วางไว้ที่นอกบ้าน Tama Pet ที่มาเที่ยวจะหายไป ถ้าเราเปลี่ยนของที่วางไว้ หรือ เมื่อเวลาผ่านไปซักพัก

Tamaverse จุดขายหลักของรุ่น Uni ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงของทามาก็อตจิ โหมดนี้เราจะต่อเน็ตหรือไม่ต่อ ก็เข้าได้ แต่ถ้าไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต อาจจะขาดเนื้อหาบางอย่าง

Entrance ทางเข้า - เราจะได้เจอกับทามาก็อตจิที่คนอื่นเลี้ยงไว้ทั่วโลก สามารถกดถูกใจ หรือดูคะแนนถูกใจได้

Tama Square แบ่งเป็น 3 พื้นที่
- Tama Party หาคู่แต่งงาน จากทามาก็อตจิของคนอื่นๆได้จากที่นี่
- Tama Travel - ทามาก็อตจิของเราจะได้ออกทัวร์ไปสถานที่แปลกๆ ด้วยราคา 2000G พอกลับมา ก็จะได้ของที่ระลึก
- Tama Fashion - ซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นเซ็ต และอัพโหลดชุด

Tama Arena ลานประลอง - พื้นที่เทศกาลแข่งขัน จะใช้งานพื้นที่นี้ได้เป็นช่วงๆ มีไว้แข่งกับคนอื่นผ่านมินิเกม เพื่อรับรางวัล

Download - เมนูนี้ใช้สำหรับกดใส่ code เพื่อรับของขวัญต่างๆ

Update - ใช้เพื่ออัพเดทปรับปรุงเครื่อง ให้มีเนื้อหาล่าสุด  ถ้าไม่อัพเดท อาจจะเข้าทามาเวิอร์สไม่ได้

Info - ดูข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ

Tama Portal 

เป็นพื้นที่สำหรับ เนื้อหาเสริม เรียกสั้นๆว่าDLC หรือ ticket หรือจะเอาตามที่ผู้เล่นในไทยเรียกว่า เมือง ก็ได้

เมื่อเข้าไปในพอร์ทัล ข้างในก็จะมีกิจกรรมให้ทำคล้ายๆทามะเวิร์ส แต่ตึกรามบ้านช่องภายในจะถูกตกแต่งตามธีมของDLCที่เราโหลดไว้ในเครื่อง มีจุดพบปะคนให้กดถูกใจกัน ร้านขายของตามธีม และเล่นจุดเกมที่มีเนื้อหาพิเศษ 

ทามาก็อตจิรุ่น Uni จะโหลดเนื้อหาเสริมมาใส่ในเครื่องได้จากการซื้อ Ticket หรือบางกล่องก็จะขายพร้อมกับDLCเลย เช่นกล่องที่เขียนว่า Angel หรือ Monster ซึ่งกล่องที่แถม DLC เราต้องเอาโค้ดไปดาวน์โหลดหลังจากซื้อเอง เพราะมันไม่ได้อยู่ในเครื่องแต่แรก
โดยเครื่องนึงจะจุได้แค่ 1 DLC เท่านั้น ถ้าอยากเปลี่ยนเนื้อหาเสริม อันเก่าก็จะถูกลบออกไป แต่สามารถโหลดลงเครื่องใหม่ทีหลังได้ 

 
แต่ละเนื้อหาเสริม จะมีทั้ง ตัวละครใหม่ที่เลี้ยงได้ สถานที่เฉพาะของDLCนั้น มีเกมใหม่ กิจกรรมใหม่ อาหาร ข้าวของเครื่องประดับต่างๆ ซึ่ง DLC ทุกอันจะมีธีมของมัน เช่น แฟชั่นโชว์ วงดนตรี สไตล์นางฟ้า สไตล์สัตว์ประหลาด ธีมสินค้าของSario 

เราสามารถซื้อ DLC ผ่านเว็ปทางการได้ https://ticketshop.tamagotchi-official.com/ ราคาประมาณสองร้อยต้นๆ และในเว็ปก็มีโค้ดเนื้อหาเสริม Berry Land ให้โหลดฟรีๆด้วย

การลง DLC จะลงได้ต่อเมื่อทามาก็อตตัวเก่าเราย้ายออกไป แล้วกำลังจะเริ่มเลี้ยงตัวใหม่เท่านั้น และข้าวของต่างๆของ DLC ตัวเก่าก็จะหายหมด เพราะเครื่องนึงจุ DLC ได้แค่อันเดียว

โค้ดของ DLC หนึ่งโค้ด สามารถลงได้ถึง 3 เครื่อง และลงซ้ำเครื่องเดิมได้ไม่จำกัด ดังนั้นเราสามารถแบ่งโค้ดให้คนอื่นได้ครับ

การเริ่มเลี้ยง ทามาก็อตจิรุ่นต่อไป - หลังจากทามาก็อตจิโตเต็มที่ได้ 4 วัน พวกมันก็จะขอย้ายออกไปอยู่ตัวเดียว ถ้าเราปฏิเสธไม่ให้ย้ายออก  พวกมันก็จะอยู่ต่อ และอาจจะขออนุญาตอีกวันหลัง
หลังจากอนุญาต ทามาก็อตจิ ก็จะเก็บข้าวของเตรียมย้ายออกแล้วทิ้งไข่ไว้ให้เราเลี้ยงรุ่นต่อไป

นอกจากจะรอให้ทามาก็อตจิขอย้ายออกเอง เราสามารถ พาทามาก็อตจิไป Tamaverse เพื่อหาคู่แต่งงาน แล้วย้ายออกได้ด้วยครับ ซึ่งก็จะได้ไข่มาเหมือนกัน



เกร็ดเพิ่มเติม:

- กลุ่มพูดคุยเรื่อง Tamagotchi มีหลายกลุ่มในเฟซบุ๊คเลยครับ ใครอยากตามข่าวสารเวลารุ่นใหม่ๆออก ก็ลองเข้ากลุ่มพวกนี้ได้

- ถ้าในไทย ขายกันโก่งราคามาก และเกิดร้าน Kinokuniya ขายหมด แนะนำให้ลองสั่งจาก Amazon หรือ ebay ดูครับ ผมสั่งซื้อผ่าน Amazon รุ่น Tamagotchi Pix ที่ในไทยขายกัน 3500 บาท มาแค่ 2,034 บาทเอง รวมค่าส่งแล้วด้วย เดี๋ยวนี้มีแค่บัตร ATM ก็ซื้อได้แล้ว ผมใช้ของไทยพาณิชย์

-กล่องที่ร้าน kinokuniya ขาย จะให้คู่มือเป็นภาษาญี่ปุ่น ต้องไปโหลดคู่มือภาษาอังกฤษจากในเน็ตแทน พิมพ์ค้นหาว่า tamagotchi uni manual (แต่ตัวเครื่องมีภาษาอังกฤษนะครับ เฉพาะคู่มืออย่างเดียวที่ไม่ใช่)

-  ตอนเปิดเครื่องครั้งแรก มันจะให้ตั้งชื่อเรา ไม่ใช่ชื่อของสัตว์เลี้ยง และเวลาตั้งค่าปีปัจจุบัน ให้ระวัง เพราะถ้ากดเลยไป เราต้องกดปุ่มเปลี่ยนปีไปเรื่อยๆจนถึงปี 2090 แล้วถึงจะวกกลับมาปี 2023

- หน้าจอ Uni เป็นรอยง่ายมาก ควรซื้อฟิล์มแบบ ฟิล์มมือถือ มาแปะกันรอยด้วย ตามเว็ป Shopee Lazada มีฟิล์มของ ทามาก็อตจิโดยเฉพาะขายเลย  เคสนุ่มๆรองรับการกระแทกก็มีขาย แต่ไม่แนะนำฟิล์ม TPU เพราะติดยากมาก มันอ่อนยวบยาบ จับมุมนู้นให้เข้า มุมนี้หด กว่าจะแปะให้ครบสี่มุม ผมปรับแล้วปรับอีกจนฟิล์มเปื้อนจากด้านใน จนใช้ไม่ได้เลย เลือกฟิล์มทรงแข็งๆจะติดง่ายกว่า

- การเปลี่ยนแบตในกรณีที่แบตเสื่อม แบตของรุ่น Uni จะฝังอยู่ในเครื่อง ไม่เหมือนรุ่น Pix ที่ใช้ถ่านก้อนเล็ก ดังนั้นต้องให้ช่างที่ชำนาญพวกเรื่องของเล่น เครื่องเกม เปลี่ยนให้ เมืองนอกมีคนเปลี่ยนได้แล้ว
แนะนำให้เลียบๆเคียงๆถามกลุ่มเฟซบุ๊คที่เกี่ยวขายเครื่องเกมสายมืด หรือเครื่องเกมแปลงดูครับ เพราะส่วนมากที่นั่น จะมีช่างเก่งๆอยู่ในกลุ่ม และรับแปลงเครื่องเกมผ่านทางพัสดุ หรือจะเอาไปให้ทำถึงที่ก็ได้ เช่นที่ห้าง Mega Plaza ที่เป็นที่รวมพลแห่งเกมและของเล่นใหม่ หลังจากสะพานเหล็กปิดไป(ผมไปมาครั้งนึง ทั้งคนทั้งของ แน่นไปทั่วทุกตารางนิ้ว แทบไม่มีที่หายใจเลย)

แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยากเรื่องแบต ก็ซื้อ Tamagotchi รุ่น Pix และ Pix Party มาเลี้ยงดีกว่าครับ เพราะใช้ถ่านก้อน แต่เหมือนรุ่นนี้จะกินถ่านหน่อยๆ เลยแนะนำว่าให้ซื้อเป็นถ่านชาร์จมาใช้

- เนื่องจากขนาดของแบตของTamgotchi Uni มีขนาดเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการใช้หัวชาร์จมือถือรุ่นชาร์จเร็ว(Fast Charge)ให้ใช้อะแดปเตอร์แบบธรรมดาแทน ที่สำคัญคือ สายชาร์จ ต้องเป็นสายที่ด้านนึงเป็น USB-A อีกด้านเป็น USB-C เท่านั้น (แบบเดียวกับสายที่แถมมาในกล่อง) ไม่ควรใช้สายที่เป็น usb-c ทั้งสองด้าน เพราะสายอย่างหลัง ไฟฟ้าจะเข้าเครื่องมากเกินไป
ส่วนวิธีชาร์จที่ปลอดภัยวิธีอื่นก็คือการเสียบหัว usb c เข้าชาร์จกับคอม พาวเวอร์แบ้งค์ หรือ ปลั๊กต่อ ที่มีรู USB 

ทามาก็อตจิ เป็นสัตว์เลี้ยงเสมือนจริง ที่คนเลี้ยงต้องใช้จินตนาการควบคู่ไปด้วยถึงจะสนุก เหมือนกับเวลาเราอ่านนิยาย ที่คนอ่านต้องใช้ข้อมูลจากตัวหนังสือครึ่งหนึ่ง ที่เหลือคือการใช้จินตนาการของตัวเองอีกครึ่งหนึ่งถึงจะอ่านเพลิน ดังนั้นถ้าเราจินตนาการให้รู้สึกว่ามันมีชีวิตไม่ได้ ก็จะไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับการเลี้ยงซักเท่าไหร่
และเวลาเลี้ยงก็ไม่ควรคลุกคลีกับมันมากนัก เพราะเนื้อหาของตัวเครื่องไม่มีอะไรซับซ้อนเท่าเกมหรืออุปกรณ์สมัยใหม่ ถ้าใช้เวลากับมันนานไป จะทำให้เบื่อได้ ให้ดูแลมันเฉพาะตอนเวลาว่างเป็นช่วงสั้นๆ จะสนุกกว่า