ตั๊กแตนตำข้าวยักษ์อินเดีย

ตั๊กแตนตำข้าวยักษ์อินเดีย (Giant Indian Mantis)
Hierodula grandis
Hierodula membranacea

เป็นตั๊กแตนตำข้าวที่ตัวใหญ่ และเลี้ยงง่าย เหมาะกับมือใหม่
ปรกติมีสีเขียว แต่สีเหลือง สีน้ำตาล และน้ำตาลอ่อนแกมชมพูก็มีให้เห็นเหมือนกัน คาดว่ามันสามารถเปลี่ยนสีตัวเองได้ตามสภาพแวดล้อม
เพศเมียโตได้ถึง 10 เซนติเมตร  ส่วนตัวผู้ 7-9 เซนฯ และดูผอมกว่า ปีกตัวผู้จะยาวกว่าก้น  ขณะที่ตัวเมียปีกจะยาวพอดีก้น
หลังจากลอกคราบ 2-3 ครั้ง ก้นตัวผู้จะมี 8 ปล้อง ส่วนตัวเมียมีแค่ 6

อายุขัยเฉลี่ย ส่วนมาก 1 ปี เคยมีคนเลี้ยงนานสุด 1 ปี 9 เดือน
อุณหภูมิเลี้ยง 21-30 องศา ที่แนะนำคือ 26-28 องศา
ยิ่งร้อน ตั๊กแตนยิ่งโตเร็ว แต่ก็ทำให้มันอายุสั้นลงด้วยเพราะแก่ไวกว่ากำหนด

นิสัยของ ตั๊กแตนตำข้าวยักษ์อินเดีย จะค่อนข้างก้าวร้าว ถ้าเจอเหยื่อหรือตัวอะไรที่เล็กกว่า จะพุ่งใส่ทันที
อย่างไรก็ตาม มันไม่กล้าทำอะไรคน จึงเอามาถือเล่นบนมือได้สบายๆ
แต่ "นานๆที" ก็มีคนโดนกัดจนเลือดออกนิดหน่อยเหมือนกัน ก็ระวังไว้หน่อย

อาหาร:
สายพันธุ์นี้ไม่ค่อยเลือกอาหาร กินได้ทั้ง จิ้งหรีด แมลงเล็กๆ แมลงหวี่ หนอนนก แมลงสาบต่างประเทศชนิดที่เลี้ยงเป็นอาหาร
ควรให้เหยื่อที่ตัวเล็กว่ามันประมาณ 1 ส่วน 3 แม้ว่ามันจะกล้ากินเหยื่อที่ตัวพอๆกับมันก็ตาม
เพจ BeetleHub ในเฟซบุ๊ค มีขายเหยื่อเล็กๆ หลายชนิด เช่นแมลงหวี่บินไม่ได้ กับ แมลงหางดีด ให้เอาไปเพาะเองได้

วิธีการให้หนอนนกคือ หั่นหนอนนกเป็นชิ้นๆ แล้วเอาปากคีบหยิบส่วนของหนอนนก ไปจ่อใกล้ๆปากตั๊กแตน (หันด้านที่มีน้ำเหนียวๆใส่ปาก)
อาจจะต้องทำหลายครั้งหน่อยมันถึงยอมกิน แต่ก็ควรเตรียมแมลงอื่นไว้เป็นอาหาร ระกว่างฝึกให้กินหนอนนกด้วย

อย่าให้อาหารเยอะเกิน ถ้าเห็นว่าก้นมันป่องมาก ก็ให้หยุดป้อนซักวันสองวัน จนกว่าก้นจะแฟบลง

การให้น้ำ ให้ใช้กระบอกฉีดน้ำ(แบบที่ใช้รีดผ้า) ฉีดตรงผนังตู้บางๆ วันเว้นวัน หรือสามวันครั้ง ต้องเป็นน้ำแบบที่คนกิน ห้ามใช้น้ำปะปา


ตู้เลี้ยง:
เลี้ยงตัวเดียว ต่อ 1 ภาชนะ  เลี้ยงรวมได้แค่ตอนยังเล็กไม่เกิน L4 (ลอกคราบครั้งที่ 4)
ตู้เลี้ยงควรเป็นทรงสูง และใหญ่เป็น 3 เท่าของตัวตั๊กแตน มีรูระบายอากาศพอสมควร
ขนาดที่แนะนำคือ 30x20x30 ใส่กิ่งไม้พาดเฉียงอันนึง หรือประดับด้วยต้นไม้พลาสติกให้เหมือนธรรมชาติ
วัสดุรองพื้น ไม่จำเป็นต้องใส่  แต่ถ้าอยากสวยงามก็ใช้ พีสมอส ขุยมะพร้าว กระดาษ A4 รองพื้นได้
อย่าให้ตู้เลี้ยงชื้น

การลอกคราบ:
การลอกคราบทำให้พวกมันโตขึ้น ก่อนลอกคราบตั๊กแตนจะหยุดกินอาหารประมาณ 1-2 วัน  ตอนเล็กๆจะลอกคราบ2อาทิตย์ครั้ง
พอโตขึ้นพวกมันจะลอกคราบบ่อยน้อยลง และจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในคราบที่ 7

ระหว่างลอกคราบ ตั๊กแตนจะห้อยหัวลงจากกิ่งไม้ หรือ ฝาตู้ และสั่นตัวเร็วๆจนกระทั่งคราบเก่าหลุดออกมา ห้ามรบกวนตั๊กแตนในเวลานั้น
หลังจากลอกคราบ ให้รอซัก 1-2 วัน แล้วค่อยให้อาหาร เพราะช่วงลอกคราบใหม่ๆ มันจะอ่อนแอ

การเพาะพันธุ์

ตั๊กแตนชนิดนี้เพาะพันธุ์ได้ง่าย
หลังจากลอกคราบสุดท้ายได้ประมาณ 2-4 อาทิตย์ ให้ป้อนตัวเมียให้อิ่มเพื่อไม่ให้มันจับตัวผู้กิน
ก่อนจะหย่อนตัวผู้ใส่ในตู้ ก็อาจจะใส่เหยื่อลงไปก่อนด้วย เพื่อให้ตัวเมียถูกดึงดูดความสนใจด้วยอาหาร
จากนั้นจึงส่งตัวผู้ลงไป (ให้อยู่ข้างหลังตัวเมีย) ถ้าตัวผู้พร้อม มันจะทำท่าเตรียมผสมพันธุ์ และเข้าไปข้างหลังตัวเมียที่กำลังกินเหยื่อ
แต่ถ้าเห็นตัวเมียทำท่าก้าวร้าวใส่ตัวผู้ ให้แยกจากกันทันที แล้วค่อยจับมาอยู่ด้วยกันวันหลังแทน

ถ้าทุกอย่างไปได้ด้วยดี ตัวเมียจะสงบนิ่งปล่อยให้อีกฝ่ายทำตามใจชอบจากด้านหลัง แต่ก่อนจะทำอะไร พวกมันอาจดูเชิงกันนานเป็นชั่วโมง
พอผสมพันธุ์เสร็จ ตัวผู้จะเริ่มหนี ให้เอาออกจากตู้ทันทีก่อนที่จะถูกจับกิน
ยิ่งตั๊กแตนโตเป็นผู้ใหญ่มากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสผสมพันธ์ง่ายขึ้นเท่านั้น

ตัวเมียจะวางฝักไข่ แล้วหลังจากนั้น 4-6 อาทิตย์ ลูกตั๊กแตนที่เรียกว่า nymph จะฟักออกมา 100-200 ตัวต่อฝัก
หลังจากเกิดได้ 1 วัน ก็สามารถป้อนแมลงหวี่ให้พวก nymph ได้