เต่าดาว

เต่าดาว ( Indian Star Tortoise )

เป็นไกด์คร่าวๆนะครับ เพราะการเลี้ยงเต่าดาว ค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าสัตว์ชนิดอื่น ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่ดูแลง่าย

เต่าในโลกมีอยู่สามประเภท คือ เต่าบก เต่าน้ำ เต่าทะเล ที่ต้องเกริ่นไว้ก่อน เพื่อกันคนเอาเต่าบกมาเลี้ยงในน้ำ แล้วไม่เห็นมันว่ายขึ้นมาอีกเลย เพราะกลายเป็นอาหารปลาไปแล้ว

เต่าดาวเป็นเต่าบกที่นิยมเลี้ยงกันมาก เพราะรูปร่างหน้าตาที่ดูน่ารักของมัน
ขนาดโตเต็มที่คือ ตัวผู้ 7 นิ้ว ในขณะที่ตัวเมีย 12 นิ้ว จะแยกเพศได้เมื่อขนาด 3.5 นิ้วขึ้นไป

ในช่วง 5 ปีแรก เต่าจะโตช้ามาก ไม่เกิน 1.5 นิ้ว เริ่มแรก ถ้าจะเลี้ยงแบบปลอดภัย ควรซื้อเต่าขนาด 2.5 ถึง 3 นิ้ว
เพราะในขนาดที่เล็กกว่านั้น จะตายง่ายมาก
ข้อดีของการเลี้ยงเต่าคือ ขับถ่ายน้อยมากๆ วันละครั้งสองครั้ง เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบมานั่งทำความสะอาดกรงบ่อยๆ

อาหารที่ให้กินคือ ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ฟักทอง ผักใบเขียวอื่นๆที่มีไฟเบอร์เยอะ รวมถึงหญ้าบางชนิดด้วย ควรจะให้ผักหญ้าพวกนี้คละกันหลายๆอย่าง
ควรใส่จานน้ำเตี้ยๆในภาชนะเลี้ยง
เต่าดาวไม่ถูกกับน้ำและอากาศเย็นมากๆ เพราะมาจากที่แห้งแล้ง จำให้แม่นว่า เต่าชอบอุณหภูมิอุ่น และแห้ง อุณหภูมิราวๆ 28-32 องศา
ดังนั้นในช่วงฤดูฝนเราอาจต้องกกไฟด้วยหลอดไฟชนิดให้ความอบอุ่น เพื่อลดความชื้น
ต้องเอาเต่าไปตากแดดอ่อนๆทุกวัน ประมาณ 15 นาที เพื่อช่วยให้มันสังเคราะห์วิตามิน D ทางผิวหนังได้ หรือ ใช้หลอดไฟ UVB แทนการตากแดด

สถานที่เลี้ยงจึงต้องมีหลอดไฟอยู่ 2 แบบ คือ แบบให้ความอบอุ่น(และทำหน้าที่ไล่ความชื้น)  กับ หลอด UVB ที่ใช้เพื่อให้มันสามารถตากแสงในบ้าน
ทุกปีควรถ่ายพยาธิด้วย โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง ไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

เต่าดาวเป็นสัตว์ที่เราวางใจปล่อยเดินเล่นในห้องได้ เพราะเดินช้า ไม่ไปแอบที่แปลกๆ และไม่ค่อยขับถ่ายเลอะห้อง แต่ต้องระวังจะเผลอเหยียบเอา

ข้อเสียคือ ปฏิกริยาตอบสนองกับคน มีพอๆกับแฮมสเตอร์แคระ เต่าจะเดินเฉื่อยๆช้าๆของมันไป ไม่สนตัวคนเลี้ยง และไม่ใช่สัตว์ที่จะจับเล่นได้นัก ไม่เหมาะสำหรับคนที่อยากได้สัตว์ทนมือ
นอกจากนี้ มันยังไม่ค่อยขยับมากต่อวัน นานๆทีจะขยับ ส่วนมากจะนอนอยู่เฉยๆ

ข้อเสียอีกข้อคือต้องเตรียมอุปกรณ์ในการเลี้ยงหลายอย่างด้วย


ถ้าอยากได้เต่าที่ ร่าเริง เดินไปนู่นนี่มากๆ ควรหันไปดู เต่ารัสเซีย ( Horsfield tortoise )
ซึ่งฉลาดกว่า และตอบสนองกับคนมากกว่า ชอบปีนป่าย ชอบวิ่งไล่งับเต่าชนิดอื่น

เมื่อเต่าป่วย (ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมาก) แนะนำให้ไป รพ จุฬา และ รพ เกษตร เค้ามีแพทย์ที่มีความรู้เรื่องเต่าพวกนี้