ทารันทูล่าแคระ

ทารันทูล่าแคระ
แมงมุม ทารันทูล่า นอกจากพวกตัวใหญ่ราวๆ 4-6 นิ้วแบบที่เราเห็นในหนังแล้ว ก็มีสายพันธุ์แคระ(Dwarf Tarantula) ที่ขนาดแค่ 2-3 เซนฯ ถึง 3.5 นิ้วก็มีครับ

ข้อดีของทารันทูล่า ทั้งสายพันธุ์เล็กและใหญ่ ก็คือ มันเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่เรื่องมากเลย อาทิตย์นึง ให้อาหารที ซึ่งก็คือ หนอนนก จิ้งหรีด แมงสาบDubia (เป็นแมงสาบที่นิยมเพาะเพื่อให้สัตว์อื่นกิน ปีนตู้ไม่ได้)
ภาชนะเลี้ยงก็ทำความสะอาดประมาณทุกสามเดือน หรือถ้ามันดูไม่เลอะเลยก็ปล่อยไปเรื่อยๆเป็นเดือนเป็นปีจนกว่าจะรู้สึกผิดและอยากทำความสะอาดขึ้นมาเอง(ฮา)
และด้วยความที่เป็นทารันทูล่าแคระ ความอันตรายเลยยิ่งน้อยกว่าตัวใหญ่หลายเท่า เวลาคนเลี้ยงโดนกัดหรือโดนเตะขนใส่ จึงแทบไม่มีผลอะไร
แต่จริงๆทารันทูล่าขนาดใหญ่ส่วนมากก็ไม่ได้อันตรายอยู่แล้ว พิษของมันอย่างมากก็แค่บวม(เว้นแต่จะคราวเคราะห์เป็นคนที่แพ้พิษมันจริงๆ เหมือนคนที่ตายจากการถูกมดตะนอยกัดที่เคยเป็นข่าว)
ที่เราเห็นคนเข้าโรงพยาบาลเพราะถูกแมงมุมกัด มักจะมีสาเหตุมาจากแมงมุมแท้ อย่างพวกแม่ม่ายดำหรือน้ำตาลเป็นส่วนมาก

ทารันทูล่าพันธุ์แคระ เลยอยู่ในหมวดสัตว์เลี้ยงสำหรับคนที่อยากเลี้ยงอะไรแปลกๆ แต่ก็ไม่อยากให้น่ากลัวเกินไป คืออยู่ตรงกลาง ระหว่างแฮมเตอร์ กับทารันทูล่าขนาดปรกติ ก็ว่าได้
แต่ก็ไม่สนับสนุนให้เอาทารันทูล่ามาเล่นบนมือนะครับ ควรเลี้ยงไว้ดูเฉยๆแบบปลาหางนกยูงมากกว่า

ปรกติแล้วผมให้อาหาร ทารันทูล่าแคระ แค่อาทิตย์นึงหนอนนกตัวนึงถึงสามตัวครับ ถ้าใครจะให้แมลงเล็กๆที่จับได้จากในบ้าน ต้องแน่ใจว่ามันไม่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง เช่นแมลงเหยื่อตัวนี้เคยไปตอมดอกไม้หรือตรงที่เคยฉีดยาฆ่าแมลงมาก่อนรึเปล่า
แต่ยังไงการให้หนอนนก หรือจิ้งหรีด ก็ปลอดภัยสุด

เนื่องจากหนอนนกชอบมุดดินหนี หลังจากเราหย่อนมันลงไปในภาชนะของทารันทูล่า คนเลี้ยงอาจจะต้องหย่อนมันไปใกล้ๆ ทารันทูล่า หรือไม่ก็เอากรรไกรมาตัดหัวหนอนนกก่อนจะโยนเป็นอาหาร (จะตัดครึ่งก็ได้แหละ)
ช่วงหลังๆผมใช้วิธีเอาคีมบี้หัวหนอนนก ให้เกือบตาย แล้วค่อยหย่อนลงไปในภาชนะเลี้ยง ฟังดูโหดร้าย แต่มันมีเหตุผลครับ เพราะหนอนนกที่ไม่ถูกกินในช่วงนาทีแรกๆ จะฝังตัวอยู่ในดิน แล้วรอวันแก้แค้น ซึ่งก็คือวันที่ทารันทูล่าจะลอกคราบ เมื่อถึงตอนนั้นทารันทูล่าจะป้องกันตัวไม่ได้ และถูกหนอนรุมทึ้งกินจนตาย ผมโดนมาแล้ว พันธุ์หายากด้วย T T


ส่วนน้ำ ก็แค่เอาน้ำใส่ขวดฉีด(แบบที่เอาไว้รีดผ้า) แล้วพ่นใส่ผนังภาชนะเลี้ยง นิดหน่อย สามวันครั้ง แล้ว ทารันทูล่า ก็จะปีนผนังไปดื่มเอง
หรือหาถ้วยเล็กๆมาใส่น้ำ  แต่ระวังทารันทูล่าตัวเล็กหรือ พันธุ์แคระ ที่เล็กกว่าถ้วย จะตกลงไป
ต้องใช้น้ำเกรดเดียวกับที่เราดื่มกัน อย่าใช้น้ำก๊อก

ภาชนะที่ใช้เลี้ยงพันธุ์แคระ จะใส่ในถ้วยพลาสติกใสแบบใช้แล้วทิ้งก็ได้ เอาเข็มเจาะให้มีรูระบายอากาศ  เจาะเยอะหน่อยก็ดี เมืองไทยอากาศร้อน อากาศในภาชนะจะได้ไหลเวียนสะดวก ไม่ร้อนมาก
อุณหภูมิที่ทารันทูล่าพอทนได้ คือราวๆ 28-30 องศา  ถ้าเป็นไปได้ก็ไว้มุมบ้านที่เย็นๆดีกว่า เพราะยังไงภาชนะก็เล็กอยู่แล้ว ถือไปไหนมาไหนง่าย ถ้าอยากดูเล่นก็ค่อยเอาออกมาตอนกลางคืน อากาศจะได้ไม่ร้อนมาก
อย่าให้รูอากาศใหญ่กว่าลำตัวของทารันทูล่า เพราะมันสามารถมุดตัวหนีรูเล็กๆได้ ผมเคยเลี้ยงในตู้ปลาพลาสติกเล็กๆ และโดนมุดหนีไปรอบนึง เพราะไม่ได้อุดรูสำหรับให้อาหารปลาที่อยู่ตรงฝา (พึ่งสังเกตว่าตู้ปลาจะมีรูนี้ที่ฝาด้วย)

ขนาดของภาชนะ เอาให้ใหญ่กว่าทารันทูล่าประมาณ 3-4 เท่า เนื่องจากเป็นทารันทูล่าแคระ ภาชนะส่วนมากเลยไม่ใหญ่กว่าฝ่ามือ เคลื่อนย้ายง่ายมาก
ภาชนะ 1 อัน เลี้ยงได้แค่ 1 ตัวเท่านั้น เพราะทารันทูล่าไม่ใช้สัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ยกเว้นพวก H. Incei


ในภาชนะปูพื้นด้วยพีสมอส หรือ ขุยมะพร้าว 2-3 นิ้ว (อันหลังราจะขึ้นยากกว่า และไม่เสี่ยงต่อสารเคมี)
ที่ต้องปูพื้น เพราะเวลาทารันทูล่าไต่ผนังเดินเล่นในภาชนะ แล้วพลาดตกลงมา มันจะได้มีอะไรเป็นเหมือนเบาะรอง
และทารันทูล่าบางชนิด ก็ชอบสร้างถ้ำใต้วัสดุรองพื้นด้วย
วัสดุรองพื้นพวกนี้ หาซื้อง่ายๆจากร้านที่ขายต้นไม้ดอกไม้ บอกไปเลยว่าจะซื้อ พีสมอส หรือ ขุยมะพร้าว
เปลี่ยนวัสดุรองพื้นทุก 1 เดือน หรือตอนมีราขึ้น

นอกจากนี้เราก็ทำถ้ำสำหรับซ่อนตัวให้มัน จากวัสดุอะไรก็ได้ เช่นกระดาษแข็ง มาพับๆ ให้เป็นรูปตัว U คล้ายถ้ำ เวลาทารันทูล่ากลัว มันจะได้หนีไปซ่อนไม่เครียด

สรุป สิ่งที่ต้องเตรียมคือ
1. ภาชนะมีฝาปิด เจาะรูระบายอากาศให้ถ่ายเทดีๆ จะแก้วหรือพลาสติกก็ได้
2. รองพื้น พีสมอส  หรือขุยมะพร้าว
3.  ที่ซ่อนตัว  (สายพันธุ์ที่ทำรังใต้ดิน ไม่ต้องมีก็ได้)
4.  ปากคีบ ซื้อจากร้านขายยาทั่วไปบางร้าน หรือร้านที่ขายพวกไขควง บัดกรี (เอาไว้คีบหนอนนก คีบเศษต่างๆ สารพัดประโยชน์มาก ใช้แทนมือ)
5. กระบอกฉีดน้ำ
6. พู่กัน เอาไว้เขี่ยๆ ให้ทารันทูล่า เดินไปตามทิศทางที่ต้องการ เช่นตอนเปลี่ยนภาชนะ

สิ่งที่ต้องทำต่อ 1 อาทิตย์คือ
1. ให้อาหารครั้งนึง หรือ สองอาทิตย์ครั้ง ก็ยัง ok แต่ถ้าเป็นตัวลูก (sling)  ควรให้บ่อยหน่อย คือ 2 ครั้ง ต่ออาทิตย์ จะได้โตไวๆ ให้น้อยอาจจะโตช้า
2. พ่นน้ำใส่ผนังภาชนะ ทุก 2-3 วัน
3. คีบเศษอาหารที่อยู่ในภาชนะไปทิ้ง
แค่นั้นเองครับ ที่เหลือก็นั่งดูเพลินๆ  ลืมให้อาหารได้ แต่เรื่องน้ำพยายามอย่าลืม

สายพันธุ์ทารันทูล่าแคระ ที่นิยมเลี้ยง (เอาชื่อไปกดหาคลิปวิดิโอประกอบ จากใน YouTube เองนะครับ)

Kochiana brunnipes - จุดเด่นคือขาสีหวานแหวว แต่ตัวสีทึบไม่เตะตา โตสุดราวๆ 3-5 cm ทำรังใต้ดิน แต่ก็โผล่มาให้เห็นบนดินบ่อยพอสมควร ขี้ตกใจ เวลาเปิดฝาบางครั้งจะรีบหนีกลับรู แต่บางครั้งก็นิ่ง  ล่าอาหารเก่งมาก ไม่เลือกกินว่าเหยื่อเป็นๆหรือตาย ตัวดูใหญ่กว่า C. elegans แต่ก็เล็กกว่า C.chicoi
ความเร็วในการเดิน เวลาปรกติจะช้า เวลาหนีกลับรูค่อนข้างเร็ว  แต่ไม่เร็วเกินจนต้องระวังว่ามันจะหนีออกตอนเปิดฝาภาชนะแบบ c. elegans หรือ Pumpkin Patch  เวลาเลี้ยงไม่ต้องใส่ที่ซ่อนตัวก็ได้ครับ
อายุขัยเฉลี่ยยังไม่มีข้อมูลแน่นอน อาจจะ 7-8 ปี แบบพวก Cyrio หรือไม่ก็ลากยาวไป 10 ปีเลย


Euathlus sp red (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Homeoemma Chilensis แล้ว) - จุดเด่นคือนิสัยที่เป็นมิตร และอยากรู้อยากเห็นทุกอย่าง เป็นทารันทูล่าแคระ ที่เว็ปฝรั่งชอบแนะนำให้มือใหม่เลี้ยง แต่ในไทยหาซื้อยากมากก ประมาณปีนึงมีขายแค่ 1-2 ตัว
โตสุด 3.5 นิ้ว  อาจจะใหญ่ไปหน่อยสำหรับคนที่กลัวทารันทูล่าตัวใหญ่ แต่ทดแทนด้วยนิสัยที่เหมือนหมาน้อยที่สนใจทุกอย่างรอบตัว จนมันน่ากลัวน้อยที่สุดในหมู่ทารันทูล่า เว็ปฝรั่งยกให้เป็นทารันทูล่าที่ไว้ใจได้มากสุด เวลาเอาออกมาเล่นบนมือ
ถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานตามเว็ปว่าใครถูกกัดเลย และต่อให้ถูกกัด พิษก็คงอ่อนมาก เพราะเป็นพันธุ์แคระ
Euathlus เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยขุดรู และจะออกจากที่ซ่อนให้คนเห็นตัวตลอด แต่ก็ต้องใส่ที่ซ่อนให้มัน เพราะบางครั้งมันก็มีอารมณ์อยากอยู่คนเดียว
นอกจากนี้ก็ชอบเดินเล่นในภาชนะ ต่างกับพันธุ์อื่นที่ส่วนมากจะอยู่นิ่ง
Euathlus เป็นทารันทูล่าที่เดินช้าแต่ขยันเดิน และกล้าเดินขึ้นมือ ถ้าเรายื่นมือไปใกล้
ทารันทูล่าพันธุ์นี้โตช้ามาก อายุขัยเฉลี่ย 15-20 ปี

Hapalopus sp. Colombia (มีsmall กับ large) - หรือเรียกว่า Pumpkin Patch ขนาดตอนโตราวๆ 2 นิ้ว และก็มีสายพันธุ์ชื่อเดียวกันแต่ใหญ่กว่า โตได้ 2.5-4 นิ้ว  ชอบสร้างใยในภาชนะแต่ไม่ยุ่บยับถึงขนาด H.Incei ขี้ตกใจ และวิ่งเร็ว ตอนเปิดภาชนะต้องระวังจะวิ่งหนีออก
เว็ปฝรั่งบอกว่าแม้ Pumpkin Patchจะสร้างใย แต่ก็ชอบออกมาให้เราเห็นตลอด ไม่ซ่อนตัว
*แต่พอเลี้ยงเอง ผมพบว่ามันจะอยู่ใต้ดินตลอด แทบไม่โผล่ขึ้นมาเลย ไม่สร้างใยด้วย อาจเป็นเพราะมันยังไม่โตเต็มที่มั้ง*
อายุขัยเฉลี่ย ยังไม่มีการยืนยัน แต่ก็น่าจะ 7-10 ปี

Holothele incei หรือ H. incei (Trinidad Olive Tarantula) เป็นทารันทูล่าแคระที่หาซื้อได้ง่าย สามารถเลี้ยงรวมกันหลายๆตัวได้ แต่จริงๆแล้วเลี้ยงตัวเดียวต่อหนึ่งภาชนะดีสุด
อายุขัยเฉลี่ย 7-10 ปี ขนาดตอนโตตัวเมียราวๆ 2-2.5 นิ้ว (แต่บางคนบอก 4 นิ้วเลย) มีทั้งสีธรรมดา และสีทอง
H. incei  มีนิสัยชอบสร้างใยเยอะมากในภาชนะ และจะแอบอยู่ใต้ใยพวกนั้น ไม่ค่อยออกมาให้เห็น เคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว ถ้าเลี้ยงหลายตัวในที่เดียวกัน ตอนเปลี่ยนวัสดุรองพื้นอาจลำบากหน่อย เวลาเลี้ยงจะใส่ที่ซ่อนให้มันก็ได้แม้ว่ามันจะชอบอยู่ใต้ใยมากกว่า

H. Tachira ไม่สร้างใยเยอะเหมือน incei และออกมาให้เห็นตัวมากกว่า

Cyriocosmus มีขายหลายชนิดมาก ทั้ง Cyriocosmus elegans, C. perezmilesi, C.leetzi C. chicoi และ C. Bertae กับ Ritae

Cyriocosmus elegans เป็น Cyrio ที่หาซื้อง่ายสุด นิสัยชอบอยู่ใต้ดิน ไม่ค่อยออกมาให้เห็น ถ้าเห็นเหยื่อก็จะล่าทันที เว้นแต่ว่าตอนนั้นมันมุดดินอยู่เลยไม่เห็นเหยื่อ
ลักษณะเด่นทางกายภาพก็คือ ปานรูปหัวใจน่ารักๆที่อยู่ตรงก้น กับสีส้มหวานๆ  ขนาดตอนโตราวหนึ่งนิ้วกว่าๆ เป็นสายพันธุ์ที่เล็กสุดในตระกูล  Cyriocosmus
อายุขัยของตระกูล Cyriocosmus ทั้งหมดคือราวๆ 5-7 ปี
ข้อเสียนอกจากชอบอยู่ในรู ไม่โผล่ตัวออกมาแล้ว C.elegans ก็วิ่งเร็วมาก ถ้าทำอะไรให้มันตกใจตอนเปิดฝาภาชนะ ก็อาจจะวิ่งหนีออกมาได้

Cyriocosmus Chicoi โตเต็มที่ราว 2-2.5 นิ้ว ตัวใหญ่กว่า Cyriocosmus หลายชนิด เป็นสายพันธุ์ที่หายากพอสมควร
ตามตัวมีสีส้มสลับดำดูสวยน่าเกรงขาม ส่วนมากจะแอบอยู่ในรูตลอด แต่ในหนึ่งอาทิตย์ก็ออกมาบ้างเหมือนกัน ประมาณ 3-4 วันเห็นตัวทีนึง ส่วนมากจะออกมาตอนผมฉีดน้ำใส่ผนังภาชนะให้มันดื่ม
แต่ยังดีที่เวลาออกมาจากรูที มันมักจะทำตัวน่าสนใจ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง คอยเดินไปรอบภาชนะ แล้วปล่อยใยบางๆคลุมพื้น หรือจัดนู่นจัดนี่รอบตัวไปเรื่อย และมีนิสัยขี้กลัว เห็นอะไรผิดปรกติปุ๊ป จะรีบเดินกะย่องกะแย่งไปซ่อนทันที ไม่ค่อยเร็วเท่าไหร่
ตัวที่ผมเลี้ยงจะออกมาตอนที่ในห้องมืดหรือมีแสงสลัวเท่านั้นและไม่ยอมกินเหยื่อเป็นๆ นอกจากจะเอากรรไกรมาตัดหนอนให้ขาดครึ่ง หรือไม่ก็เอาคีมบีบหัวหนอนก่อน
ผมเคยให้หนอนนกเป็นๆหลายครั้ง แต่มันก็รอดอยู่ในภาชนะเลี้ยงแบบนั้นถึง 2 วัน จนต้องคีบออก

Cyriocosmus Ritae ในสายตาผม ผมยกให้เป็นราชินีของตระกูล Cyriocosmus เลย จากสีและท่าทางที่ดูสง่าของมัน
Ritae เป็นทารันทูล่าแคระที่มีขนาดกำลังดี ขนาดใกล้ๆกับ Chicoi ไม่ตัวเล็กยังกับเห็บหมัดเหมือน elegans ตามตัวและขามันมีสีครีมสลับดำดูสวยหรู นิสัยชอบอยู่บนดินตลอดเวลา
การเคลื่อนที่ของมันไม่ค่อยนุ่มนวลแบบ Euathlus หรือ Chicoi แต่จะดูแข็งๆกว่า มีนิสัยขี้ตกใจ ถ้าเปิดฝาภาชนะเลี้ยงเมื่อไหร่ จะวิ่งหนีกลับหลุมที่ขุดแบบตื้นๆของมันทันที
เท่าที่เลี้ยงมา มันเคยพุ่งโจมตีพู่กันผมครั้งนึง ตอนซื้อมาวันแรกแล้วจะเขี่ยให้ออกจากภาชนะที่ใส่ หลังจากนั้นก็ไม่ก้าวร้าวอะไรอีก
ทารันทูล่าชนิดนี้ชอบสร้างใยไปทั่วภาชนะ แต่ก็ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าที่ใยเกาะกันจนเห็นชัด
สรุป: เป็นทารันทูล่าที่ซื้อมาแล้วดูเพลินดี ขนาดพอเหมาะ สีสวย อยู่บนดินตลอด ท่าเดินแข็งๆนิด
พันธุ์นี้ผมชอบรองจาก Euathlus sp Red เลย

Cyriocosmus leetzi ได้ยินว่าชอบมุดอยู่ใต้ดินตลอดเวลา

Oligoxystre diamantinensis (Brazilian Blue Dwarf Beauty) - ตัวมีสีน้ำเงินสวยเหมือน GBB แต่ข้อมูลน้อยมาก นานๆมีขายในไทยทีและราคาสูง เคลื่อนที่ได้เร็ว ไม่ค่อยอยู่ในที่ซ่อน ไม่ขุดดิน แต่จะสร้างใยบนพื้นแทน  ตอนโตประมาณ 10 cm (บางที่ก็ว่า 6-8 cm)  อายุขัยราว 10-15 ปี

Catumiri argentinense - ตัวสีน้ำตาลทั้งตัว ไม่มีลายสวยๆแบบพวก Cyrio ก้นยาวเป็นทรงวงรี ส่วนมากอยู่บนดินตลอด และชอบทำกิจกรรมให้เราดู นิสัยขี้ตกใจเล็กน้อยเวลาเราเปิดภาชนะเลี้ยง แต่ก็ไม่วิ่งหนีปรู๊ด เวลาให้อาหารหรือทำความสะอาดตู้จึงง่ายมาก เป็นทารันทูล่าที่ไม่ค่อยสวย แต่มีพฤติกรรมที่น่าสนใจกว่าอีกหลายชนิดครับ

เกร็ดความรู้ทั่วไป
- อายุขัยเฉลี่ย ที่พูดถึงในบทความนี้ คืออายุของเพศเมีย  ทารันทูล่าตัวผู้จะอายุสั้นกว่าประมาณ 30-50%

- วิธีการเก็บหนอนนก(ถ้าไม่คิดจะเพาะพันธุ์เก็บไว้) ผมใส่ไว้ในกล่องพลาสติกทึบเล็กๆเท่ามือ เจาะรูระบายอากาศสามสิบสี่สิบรู ส่วนอาหาร ก็ขอให้ร้านที่ซื้อหนอนนก โรยอาหารไก่มาให้หน่อย ปล่อยไว้นานก็ยังไม่หมด หรือให้อาหารปลาก็ได้
ปรกติกลิ่นหนอนนกจะไม่แรงมาก ไม่มีกลิ่นออกมาจากภาชนะ ถ้ารู้สึกกลิ่นแรงจนโชยออกมาจากกล่องเมื่อไหร่ แปลว่าผักที่ให้อาจจะเน่าแล้ว (เพราะอย่างนี้อาหารไก่ กับอาหารปลาเม็ด เลยดีสุด เพราะกลิ่นคงที่ตลอด)
ส่วนน้ำก็อาทิตย์นึง หรือ ทุก 3 วัน ก็เอากระบอกฉีดน้ำมาฉีดๆหน่อย
แต่จะให้ดีสุดคือเอาหนอนนกแช่ตู้เย็นครับ มันจะเข้าภาวะจำศีล ไม่ต้องดูแลอะไรเลย
ถ้าเก็บในตู้เย็นไม่ได้ ก็เก็บหนอนนกไว้ในบ้าน ตรงที่อุณหภูมิไม่ร้อนมาก เช่นชั้น 1 ของบ้าน เนื่องจากภาชนะหนอนนกของผมขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ เลยสามารถหาที่เก็บให้ไกลตาคนในบ้านที่กลัวหนอนได้ง่ายๆ

- แหล่งซื้อทารันทูล่า อยู่ตาม จตุจักร หรือกลุ่มใน facebook แต่จตุจักรแทบไม่มีพันธุ์แคระขายเลยต้องหาจาก FB เท่านั้น

- ทารันทูล่า 'แคระ' ที่หนีจากภาชนะเลี้ยงแล้วหายไป ตามหลักแล้วไม่น่าจะเป็นอันตรายทั้งกับคนและสัตว์เลี้ยง เพราะพิษมันอ่อนมาก อาจน้อยกว่าแมงมุมบ้านตัวจิ๋วๆอีก ถ้าคุณสามารถนอนตาหลับร่วมกับแมงมุมทั่วไปที่อยู่ในบ้านได้ ทารันทูล่าแคระที่หลุดก็ไม่น่าจะต่างกัน และมีชีวิตรอดไม่นาน เพราะมันปีนป่ายไม่เก่งเท่าแมงมุมบ้านเลย
ที่ต้องระวังคือถ้าตัวผู้กับตัวเมียหลุดไปพร้อมกัน มันอาจจะแพร่พันธุ์ได้ (แต่นั่นหมายความว่ามันต้องรอดจากการถูกเหยียบ ถูกจิ้งจกกิน และมีปัญญาหาอาหารให้ได้ก่อน)

-เวลาจะเลือกสายพันธุ์ทารันทูล่าที่จะเลี้ยง นอกจากรูปร่างหน้าตาแล้ว ยังต้องสนอีกสองเรื่องด้วย
คือ 1. เป็นสายพันธุ์ที่ชอบซ่อนตัวมั้ย  2. ล่าเหยื่อทันทีรึเปล่า
เพราะบางสายพันธุ์จะซ่อนตัวอยู่ในดินตลอด เดือนนึงอาจจะเห็นหน้ากันแค่ 2-3 ครั้ง ทำให้คนเลี้ยงรู้สึกว่ากำลังเลี้ยงรูไว้ดูเล่น เพราะมองไปที่ภาชนะเลี้ยงทีไร ก็เห็นแค่รูอันหนึ่งแปะอยู่ในภาชนะไม่มีตัวอะไรโผล่มาให้เห็นทุกที
ส่วนเรื่องล่าเหยื่อ ก็สำคัญ เพราะเราจะไม่รู้ว่าทารันทูล่าที่เลี้ยงไว้ ได้กินอาหารรึไม่ ถ้ามันไม่กินให้เราเห็นเดี๋ยวนั้นเลย (เหมือนหย่อนอาหารปลาไป แล้วปลาไม่กิน จนอาหารไปจมเน่าอยู่ในตู้น่ะครับ)
สายพันธุ์ที่ไม่ค่อยล่า จะทำความลำบากใจให้คนเลี้ยง เพราะไม่รู้ว่ามันกินอาหารที่เราให้รึเปล่า มันอาจจะไม่กินแล้วเอาเหยื่อที่ตายแล้ว มาเป็นวัสดุทำรังเฉยๆก็ได้