ระดับความเชื่องของทารันทูล่า

หน้านี้ จะจัดหมวดหมู่ทารันทูล่าตามความเชื่องครับ เป็นการรวบรวมข้อมูลมาจากหลายๆที่ บวกกับความเห็นส่วนตัว
ความเชื่องในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า มันจะมาเล่นกับเราได้เหมือนหมาแมว ทาลันทูล่าเชื่องได้มากสุดก็แค่เอามาวางบนมือเราได้
แต่ต่อให้เป็นสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่าเชื่องยังไงก็ตาม เราก็ยังมีความเสี่ยงว่าจะโดนกัดได้เสมอ

บางครั้งในเน็ตจะมีคนโพสรูปที่เอาทารันทูล่าสายพันธุ์ดุๆ มาวางเล่นบนมือกัน ผมจึงกลัวว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์เรื่องทารันทูล่าจะคิดว่าเราสามารถเอาทารันทูล่ามาเล่นแบบนั้นได้ทุกตัว
เวลาเห็นคนที่พึ่งเลี้ยงทารันทูล่าได้ไม่ถึงอาทิตย์โพสแนวว่า  "พี่คับๆ ผมซื้อ______(ใส่ชื่อสายพันธุ์ที่โครตดุในช่องว่าง) จะเอามันขึ้นมือแบบรูปของพี่ยังไงคับ" ผมจะรู้สึกสยองขึ้นมาทุกที เลยเป็นที่มาของการเขียนหน้านี้ครับ

แม้ทารันทูล่าแต่ละตัวจะมีนิสัยต่างกันเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พันธุ์ที่ดุมากอาจจะยอมอยู่เฉยๆบนมือคนเลี้ยงก็ได้ หรือพันธุ์เชื่องอาจจะแว้งกัดคนเลี้ยงซักครั้ง
แต่การรู้ว่าพันธุ์น่าจะดุหรือเชื่องไว้ก่อน และพันธุ์ไหนพิษอ่อนพิษแรง ก็จะทำให้เรารู้จักการบริหารความเสี่ยงของตัวเองได้ครับ
เหมือนที่เรารู้ว่าในหลักสถิติแล้ว เรามีโอกาสถูกเลขท้ายสองตัว มากกว่ารางวัลที่1 นั่นเอง

ปล. ไม่ว่าจะเชื่องไม่เชื่อง คนเลี้ยงก็ควรเอาทารันทูล่ามาวางเล่นบนมือให้น้อยที่สุด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้มันตกพื้นจนอวัยวะภายในเสียหายได้

Level 1 เชื่องมาก (วางเล่นบนมือได้ มีโอกาสกัดน้อยมาก แทบไม่เตะขนใส่)

Brachypelma albopilosum (curly hair) ขนหยิก ชอบขุดดินเล่น และขยันทำกิจกรรมมากสุดในตระกูล Brachy
Brachypelma emilia (Mexican redleg) สีแดงสวย ตอนโตมีขนาดเล็กกว่า Brachy ชนิดอื่น วันๆแทบไม่ขยับตัวเลย
Euathlus sp. Red (Chilean Flame) ชื่อใหม่คือ Homoeomma chilensis พันธุ์แคระ นิสัยชอบเดินเล่นในตู้ กล้าเดินขึ้นมือคนเอง อันตรายแทบจะ 0% ในไทยนานๆจะมีคนขายที เมืองนอกมีแต่คนตามหา ผมว่าเป็นสายพันธุ์ที่เชื่องอันดับ1 ในบรรดาทารันทูล่าแล้ว 
Eupalaestrus campestratus (pink zebra beuty) นิสัยสุภาพเรียบร้อย ขนสีออกชมพูจางๆ เหมาะกับมือใหม่ หาซื้อยากกว่าพันธุ์อื่นนิดหน่อย
Grammostola pulchra (Brazilian Black) ยักษ์ดำใจดี ขนเงางามเหมือนกำมะหยี่ โตเต็มที่ 6-8 นิ้ว ช่วงหลังๆราคาแรง ระวังจะสับสนกับ Big Black สายพันธุ์ของไทยที่ดุมาก
Grammostola pulchripes  (Chaco golden knee) พันธุ์มาตรฐาน ราคาถูกมาก หาง่าย มีคนเพาะขายจนล้นตลาด โตเร็วและตัวใหญ่ถึง 8 นิ้ว มักจะทำกิจกรรมให้เราดูในตู้เลี้ยง


Level 2
 เชื่อง (มีโอกาสกัดน้อย นิสัยรักสงบ อาจเตะขนใส่บางครั้ง พอจะวางเล่นบนมือได้)

Aphonopelma chalcodes/ paysoni/ hentzi แก๊งทารันทูล่าจากอเมริกามักจะมีนิสัยเรียบร้อย
Avicularia avicularia (pink toe) ค่อนข้างเชื่องกว่า versicolor นอกจากนี้สายพันธุ์ Avic แทบทุกชนิด ก็มีพิษอ่อนกว่าพันธุ์ทั่วไปด้วย
Avicularia metallica เป็น avic ยักษ์ นิสัยเรียบร้อยสุดในตระกูล โตได้ถึง 6-7 นิ้ว
Avicularia versicolor (ชื่อใหม่ Caribena versicolor) พันธุ์ยอดฮิต วางขายปุ๊ปหมดปั๊ป เพราะสีตระการตา นอกนั้นคุณสมบัติและวิธีเลี้ยงเหมือน Avic avic
Euathlus sp. Yellow เชื่องแต่ไม่เคยเห็นขายในไทย
Phrixotrichus scrofa (Chilean Copper) เป็นพันธุ์แคระที่หายากมาก นิสัยเชื่องและอยากรู้อยากเห็นคล้ายๆ Euathlus sp. red

Level 3
 เชื่องบ้าง ตกใจง่ายบ้าง (บางครั้งก็นิ่ง บางครั้งก็พยายามหนีคนเลี้ยง ยังพอให้ขึ้นบนมือได้ แล้วแต่ตัว)

Aphonopelma bicoloratum (blood leg) โตเต็มที่ 4-4.5 นิ้ว อายุยืนถึง 30 ปี
Avicularia purpurea ตัวสีม่วง โดยปรกตินิสัยนิ่ง แต่บางครั้งก็ขี้ตกใจ  ตอนเล็กๆมีอัตราการตายสูง ถ้าไม่อยากเสี่ยงควรซื้อตัวที่โตกว่าสองนิ้ว  ขนาดโตเต็มที่ราว 4 นิ้ว แต่ก็มีบางคนบอกว่าอาจใหญ่กว่านั้นได้
Brachypelma albiceps (golden red rump)
Brachypelma smithi (Mexican redknee) สายพันธุ์มาตรฐาน หนังสมัยก่อนชอบเอาพันธุ์นี้มาประกอบฉาก
Thrixopelma cyaneolum ( Cobalt Red Rump ) เชื่องพอสมควร แต่หายากสุดๆ ขนาด 4-5 นิ้ว
สายพันธุ์แคระต่างๆ เช่นพวก Cyriocosmus นอกจากเรื่องนิสัยไม่ดุ พันธุ์แคระก็มีพิษอ่อนกว่าพันธุ์ขนาดปรกติมากด้วย ส่วนมากจะวิ่งหนีมือคน


Level 4
 กลุ่มขี้ตกใจ และกลุ่มอารมณ์แปรปรวน บางตัวก็หนีไปซ่อนเวลาคนเข้าใกล้ บางตัวก็สลัดขนใส่ แต่ไม่ขู่
ทารันทูล่าตั้งแต่ระดับ4 ไม่ควรเอาวางเล่นบนมือแล้ว (แต่หลายชนิดมือใหม่ก็เลี้ยงได้)

Aphonopelma seemanni ( Costa Rican zebra) อารมณ์หลากหลาย ปรกติแล้วไม่ดุ
Avicularia diversipes เป็น Avic ที่ไม่ชอบให้คนมายุ่ง อาจมีขู่บ้าง
Avicularia minatrix ตัวเล็กสุดในตระกูล Avic โตเต็มที่ 3.5 นิ้ว ขี้อาย แต่ไม่ดุ ชอบซ่อนตัวอยู่ในใยที่ทำเป็นโพรงอาศัย บางตัวอาจยอมอยู่บนมือคนเลี้ยง
Avicularia sp. Peru purple ขี้ตกใจ ถ้ามีอะไรเข้าใกล้ จะวิ่งกลับรังทันที ตัวใหญ่ได้ถึง 6.5 นิ้ว
Brachypelma boehmei (Mexican Fire Leg) สีสวย แต่ชอบเตะขน
Brachypelma schroederi
Brachypelma vagans (redrump) พันธุ์เลือดร้อนในตระกูล Brachy
Davus pentaloris (Tiger rump) ชื่อเก่า Cyclosternum fasciatum กับ Davus fasciatus  ก้นลายเสือ นิสัยคล้าย GBB ต่างกันที่พันธุ์นี้ชอบขุดอุโมงค์
Bumba cabocla เหมือน Tiger rump แต่ตัวใหญ่กว่า และไม่มีลายก้น
Euathlus sp Blue (pulchermaklaasi) ขี้ตกใจ โตได้ถึง 4-5 นิ้ว
Grammostola rosea/porteri  สายพันธุ์ที่คนไทยชอบเรียกสั้นๆว่า โรซี อารมณ์แปรปรวนคุ้มดีคุ้มร้าย ถ้าเอาลูกปิงปองใส่ในตู้ บางตัวก็จะเล่นด้วย
Chromatopelma Cyaneopubescens (GBB ชื่อเต็ม Green bottle Blue Tarantula) มีสีน้ำเงินสวย ชอบทำกิจกรรมในตู้เลี้ยงให้เราดู ขี้ตกใจ วิ่งเร็ว แต่ไม่ดุ มือใหม่เลี้ยงได้ ถ้าไม่ตกใจตอนมันวิ่งเร็ว


Level 5
 ค่อนข้างก้าวร้าว (มักจะขู่ หรือเตะขน แล้วค่อยหนี นานๆทีจะโจมตีใส่บ้าง)

Acanthoscurria geniculata (Brazilian Giant White Knee) โตเร็ว และใหญ่ถึง 7-8 นิ้ว เป็นสายพันธุ์ที่กินเก่ง ชอบทำกิจกรรมให้เราดูในตู้เลี้ยง
L.parahybana (lasiodora parahybana) ได้ยินว่า บางตัวก็นิสัยรักสงบ
Nhandu chromatus (Brazilian red and white tarantula)
Nhandu coloratovillosus
M.Balfouri  พิษค่อนข้างแรง
Psalmopoeus cambridgei
Tapinauchenius gigas เร็วมาก

Level 6 ขี้ตกใจ ไม่ชอบสู้ แต่พิษแรง และวิ่งเร็ว

P.miranda (Poecilotheria miranda)
P. metallica (Poecilotheria metallica)
Poecilotheria vittata
สรุปง่ายๆว่าตระกูล Poecilotheria พิษแรง

Level 7 ดุ

C. Darlingi (Ceratogyrus Darlingi)
Chilobrachys huahini
H. lividum (Haplopelma lividum) พิษแรง
H.maculata (Heteroscodra maculata)
Lampropelma violaceopes (Singapore blue) พิษแรง
OBT หรือ Orange Baboon Tarantula (Pterinochilus murinus) พิษแรง
poecilotheria regalis เรการิส พิษแรง
Psalmopoeus irminia (Suntiger) พิษค่อนข้างแรง
P. pulcher (Psalmopoeus pulcher)
บึ้งไทย
พันธุ์ baboon ต่างๆ
ส่วนมากทารันทูล่าที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยจะดุ