ทารันทูล่า2

Avicularia avicularia (Pinktoe Tarantula)
Avicularia velutina ก็คือสายพันธุ์นี้เช่นกัน

**วิธีเลี้ยง Avicularia ใช้วิธีเดียวกันหมด ดังนั้นถ้าจะเลี้ยง Avic ชนิดไหนก็ตาม(รวม C. versicolor ด้วย)อ่านวิธีเลี้ยงจากตรงนี้ได้เลย ผมแปลมาจากเว็ปบอร์ดของฝรั่ง ที่ทุกคนแนะนำใช้วิธีเลี้ยงแบบนี้

Source: http://arachnoboards.com/threads/avicularia-husbandry.282549/#post-2461399

Avicularia avicularia เป็นทารันทูล่าต้นไม้ ที่นิยมในต่างประเทศพอๆกับ Caribena versicolor (ชื่อเก่า Avicularia versicolor) แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง คงเป็นเพราะสีของมันไม่เตะตาเท่า versi วิธีเลี้ยงของทั้งสองชนิดไม่ต่างกันเลย

Avic avic เหมาะกับมือใหม่ที่ต้องการเลี้ยงทารันทูล่าต้นไม้เป็นตัวแรก เพราะนิสัยที่เชื่อง พิษอ่อนกว่าทารันทูล่าทั่วไป ราคาถูกกว่า versicolor
บางตัวก็ทำกิจกรรมในตู้เลี้ยงบ่อย ไม่อยู่นิ่งทั้งวัน  ส่วนมากเอาขึ้นมือเล่นได้ แต่ต้องระวัง เพราะมันสามารถกระโดดหนี หรือยิงอึใส่คนเลี้ยง (ไม่อันตราย แต่เลอะเทอะ)
เวลาเอามาเล่น ควรนั่งติดพื้น และเอาส่วนที่มันปีนเช่นฝ่ามือไว้ใกล้พื้น เวลามันกระโดดจะได้ไม่ห่างจากพื้นมาก แต่ทางที่ดีอย่าถือแมงมุมเล่นจะดีกว่า
ปรกติแล้วจะเดินช้าๆ แต่ถ้ามันตกใจมาก ก็วิ่งเป็นจรวดได้เหมือนกัน

ขนาดโตเต็มที่ 4-5 นิ้ว
ลักษณะกายภาพ: ตัวสีเข้มเกือบดำ ก้นสีน้ำตาลแดง ปลายเท้าสีสว่างดูเด่นมากๆ เหมือนกับมีพระจันทร์เสี้ยว8ดวง ประดับอยู่ปลายขา
อายุขัยเฉลี่ย เพศเมีย 12 ปี  เพศผู้  3-4 ปี
ถิ่นกำเนิด อเมริกาใต้ บลาซิล
ไม่ควรวางตู้เลี้ยงในตำแหน่งที่อุณหภูมิเกิน 30 องศา
ความสามารถพิเศษ: กระโดดออกจากมือแบบไม่กลัวตาย  ยิงอึ แทบจะไม่เตะขนเลย
สายพันธุ์ต้นไม้ ไม่ว่า Avic avic หรือ C. versicolor ตอนเล็กๆจะมีโอกาสตายง่าย ถ้ากลัวจะไม่รอด ให้หาตัวที่ขนาด 2 นิ้วขึ้นไปมาเลี้ยง

ข้อเสียเล็กๆน้อยๆของพันธุ์นี้คือ ชอบอึใส่ผนังตู้ ทำให้ต้องคอยเอากระดาษทิชชู่เช็ดคราบอึของมันทุกสองสามอาทิตย์

วิธีเลี้ยง (ใช้ได้กับ Avic ทุกชนิด)

ภาชนะเลี้ยง ควรเป็นภาชนะทรงสูง มีประตูเปิดจากด้านข้าง ใช้ได้ทั้งตู้พลาสติกใสหรือใช้ขวดโหลพลาสติกทรงสูง (ดูตัวอย่างภาชนะได้จากคลิปใน Youtube ค้นหาว่า Avicularia housing)
แต่ถ้าหาภาชนะที่เปิดด้านข้างไม่ได้ ก็สามารถใช้ภาชนะที่เปิดจากด้านบนตามปรกติ แต่ตอนเปิดฝา อาจทำให้ใยหรือรังของแมงมุมฉีกขาด ซึ่งก็ไม่มีผลอะไรมาก นอกจากจะทำให้แมงมุมตกใจนิดหน่อย

ตู้เลี้ยงต้องมีรูระบายอากาศ 'ด้านข้าง' เยอะๆ ให้รูอยู่ตรงข้ามกัน เพื่อให้อากาศไหลเข้าและออกสะดวก  รูด้านบนไม่ค่อยมีผลนัก
การไหลเวียนของอากาศ สำคัญสำหรับ Aviculria ทุกชนิดมาก จะอยู่หรือตาย ขึ้นอยู่กับว่ามีรูอากาศพอมั้ย ควรให้มีรูมากกว่าปรกติพอสมควร ความชื้นไม่เกี่ยวเลย และอาจทำให้ตายด้วย ถ้าถูกยัดเยียดความชื้นให้มากเกินไป

ในตู้ปูพื้นด้วยขุยมะพร้าว หรือพีทมอส ประมาณ 1-3 นิ้ว เพื่อเป็นเบาะรองเวลามันปีนพลาดแล้วตก วัสดุรองพื้นควรแห้ง
ใส่กิ่งไม้วางเฉียงหรือเปลือกไม้พิงผนังตู้ เพื่อให้แมงมุมปีน  และอาจใส่ต้นไม้ปลอมที่ทำจากพลาสติกด้วย เพื่อให้มันมีที่ซ่อน
ถ้าทารันทูล่าต้นไม้ถูกเลี้ยงแบบไม่มีที่ปีนหรือที่ซ่อน มันจะขดตัวเป็นก้อน ไม่ขยับตัวทั้งวัน ดูทรมานและน่าสงสาร
ต้องมีถ้วยน้ำวางไว้บนดิน มันจะไต่ลงมากินเอง  ไม่จำเป็นต้องใช้กระบอกฉีดน้ำพ่นน้ำใส่ตู้เพื่อให้ความชื้นเลย
สรุป:คนเลี้ยงไม่ต้องฉีดน้ำเพิ่มความชื้น แต่ต้องมีถ้วยน้ำอยู่ในตู้ตลอดเวลา

แต่ถ้าแมงมุมยังตัวเล็ก ก็เลี้ยงในถ้วยพลาสติกปิดฝาแทน(ถ้วยแบบที่ใส่น้ำสลัด) เจาะรูด้านบนเยอะๆ ด้านข้างด้วยก็ดี
แล้วฉีดให้น้ำเป็นหยดเล็กๆทุก 2-3 วัน อย่าลืมเรื่องให้น้ำเพราะแมงมุมตัวเล็กจะมีอาการขาดน้ำง่าย แต่ก็อย่าทำให้วัสดุรองพื้นชื้นด้วย

การให้อาหาร  ตอนเด็ก หย่อนอาหารลงไปเท่าที่มันจะกิน แล้วค่อยคีบส่วนที่เหลือออก เพราะหน้าที่ของมันคือการรีบโตให้เร็วที่สุดก่อนที่จะถูกจับกินในธรรมชาติ
ตอนโตให้อาหารอาทิตย์ละครั้ง
ทำเหมือนกับให้อาหารทารันทูล่าทั่วไป ไม่มีอะไรซับซ้อนกว่านั้น

แม้ Avic avic จะเป็นทารันทูล่าสายพันธุ์ที่หาง่าย นิสัยน่ารัก แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครเอาเข้ามาขาย ต้องถามหาเอง หรือไม่ก็พรีออเดอร์จากคนขายในเฟซบุ๊ค (ล่าสุด ธันวา'17 ร้าน made in zoo ในจตุจักรเอามาขายเพียบเลย)

Eupalaestrus Campestratus (Pink Zebra Beauty)

เป็นทารันทูล่าที่มีคุณสมบัติคล้ายกับ Euathlus sp Red. คือเชื่องและไม่ก้าวร้าว เป็นที่ต้องการในต่างประเทศมาก แต่ในไทยแทบไม่มีคนรู้จักเลย

ในบรรดาทารันทูล่า สายพันธุ์นี้มักจะถูกโหวตร่วมกับ Euathlus sp Red และ Curly hair ว่าเหมาะกับมือใหม่จากแทบทุกเว็ป แต่ก็หาซื้อยากพอสมควร
เนื่องจากมีต้นกำเนิดจากสถานที่ที่มีอากาศเลวร้าย Eupalaestrus Campestratus จึงเป็นทารันทูล่าที่ค่อนข้างทน ควรเลี้ยงในอากาศราว 26-28 องศา แต่อากาศปรกติบ้านเราระดับ 30 องศา ก็พอทนได้ พยายามคุมอุณหภูมิไม่ให้สูง ด้วยการเอาไปไว้ในห้องที่ไม่ร้อน ภาชนะเลี้ยงมีรูระบายอากาศเยอะๆ

สายพันธุ์นี้โตช้ามาก โตเต็มที่ราว 6 นิ้ว ลักษณะภายนอกคล้าย chaco golden knee แต่ก็สามารถแยกอย่างง่ายๆ เพราะสายพันธุ์นี้จะไม่มีลายเหลืองที่ขา และตัวเล็กกว่า

อายุขัยเฉลี่ย เพศผู้มากสุด 10 ปี  เพศเมีย 20-30 ปี
มีนิสัยเชื่องมาก ติดอันดับแรกๆของทารันทูล่า(คำว่าเชื่องในระดับแมงมุม คือ ไม่ก้าวร้าว ไม่ดุ แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะมาเล่นกับเราเหมือนหมาแมว)
ผมเรียกพันธุ์นี้ว่า ทารันทูล่าพันธุ์คุณหนู เพราะนิสัยมันสุภาพมาก จะเดินหรือจะขยับตัวก็ทำอย่างนุ่มนวล ต่อให้ถูกรบกวนด้วยพู่กัน หรือปากคีบ มันก็จะขยับหนีช้าๆไม่รีบร้อน บางครั้งก็ไม่หนีและเอาเท้ามาแตะๆปากคีบเล่นด้วยซ้ำ

แม้แต่เจ้าของเว็ปทารันทูล่าเมืองนอก อย่าง mikebasictarantula ก็เลือกชอบเอาพันธุ์นี้ไปแสดงให้เด็กๆในโรงเรียนดู (โดยมีผู้ใหญ่ดูแลอยู่ใกล้ๆ) เพราะตัวที่เค้าเลี้ยง เชื่องขนาดเอามาเล่นบนมือ และจับคว่ำจับหงายได้
แต่ก็ไม่แนะนำให้จับเล่นแบบนั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวแมงมุมเอง ควรจะมีไว้ดูเฉยๆดีกว่า

สายพันธุ์นี้ชอบเคลื่อนไหวบ้าง ไม่ได้อยู่นิ่งทั้งวัน แต่ไม่บ่อยเท่า Euathlus Sp. Red กับ GBB เนื่องจากมันเดินช้า และนิสัยเรียบร้อย ตอนเปิดตู้เลี้ยงจึงไม่มีอะไรให้ต้องระวังเลย

สถานที่เลี้ยง ใส่วัสดุรองพื้น 3-5 นิ้ว ใส่ที่ซ่อน และ ถ้วยใส่น้ำเล็กๆ


Costa Rican Tiger Rump
ชื่อวิทยาศาสตร์ Davus fasciatus (ชื่อปัจจุบัน) Cyclosternum fasciatum (ชื่อเก่า)

เป็นทารันทูล่าขนาดกลาง โตเต็มที่ 3.5-4.5 นิ้ว รูปร่างออกไปทางเก้งก้างแบบ GBB ไม่ดูหนาถึกแบบตระกูล Brachypelma  (ผมชอบทารันทูล่าตัวหนาๆมากกว่า เพราะได้อารมณ์รถถังดี)
ตรงส่วนก้นมีลายสีส้มแดงเหมือนลายเสือ
ความหายากอยู่ระดับกลางๆ อายุขัยเฉลี่ย เกิน 10 ปี

พฤติกรรม: สายพันธุ์นี้จะขุดรูไว้ซ่อนตัว แต่ส่วนมากชอบขึ้นมาอยู่บนดิน และเคลื่อนไหวบ่อยพอสมควร คนเลี้ยงจึงมีโอกาสได้เห็นมันทำกิจกรรมบ่อยกว่าทารันทูล่าประเภทที่ชอบอยู่นิ่ง
เวลาเลี้ยงไม่ต้องใส่ที่ซ่อนตัวให้มัน เพราะมันทำรูเองอยู่แล้ว

แม้จะเป็นทารันทูล่าที่เห็นตัวตลอด แต่บางทีก็หายไปอยู่ในรูเป็นเดือนๆเหมือนกัน
ผู้เลี้ยงคนนึงเคยเล่าว่า ของเขาลงรูถึง 5 เดือน แต่พอขึ้นมาแล้ว ก็ใช้ชีวิตอยู่บนดิน ไม่กลับไปในรูอีกเลย
นอกจากนี้ Tiger rump ก็มักจะทำใยบางๆไว้ตามดินกับรูที่มันอยู่ด้วย

นิสัย: ไม่ก้าวร้าว ไม่ขู่ แต่ขี้กลัว ถ้าเปิดฝาภาชนะเลี้ยงจะวิ่งลงรูด้วยความเร็วสายฟ้าแลบ และต้องระวังมันวิ่งสวนออกมาตอนเปิดฝา ไม่เหมาะกับการเอามาวางเล่นบนมือ เพราะมันเร็วมาก(แต่ไม่ดุ)
เหมาะกับผู้เลี้ยงทั้งมือเก่าและมือใหม่ ที่รู้จักควบคุมตัวเองไม่ให้ตกใจ เวลาเจอทารันทูล่าเคลื่อนที่เร็ว

Bumba cabocla ชื่อเดิม Maraca cabocla
ชื่อสามัญ Brazilian Red-head

เป็นทารันทูล่าหายากมากทั้งในไทย และต่างประเทศ เท่าที่เห็นมีแต่คุณ bigbug ที่มีขาย
หน้าตาของมันดูคล้าย Tiger rump (davus fasciatus) แต่ตัวใหญ่กว่า โตเต็มราว 4-5นิ้ว และไม่มีลายเสือตรงก้น
นิสัยไม่ก้าวร้าว ขี้ตกใจบ้าง โดยเฉพาะตอนที่ยังตัวเล็ก สายพันธุ์นี้ค่อนข้างทน
อายุขัยเฉลี่ย คาดว่าเพศเมีย 12-15 ปี  เพศผู้ 3-5ปี
มือใหม่เลี้ยงได้ แต่ควรมีประสบการณ์เลี้ยงทารันทูล่ามาแล้วซัก 1 ตัว จะได้ไม่ตกใจเวลามันวิ่งเร็ว
พฤติกรรม: ชอบขุดอุโมงค์ใต้ดิน แต่ส่วนมากจะขึ้นมาอยู่บนดิน  จะหนีลงรูเวลาตกใจ
ตอนที่ตัวยังเล็กกว่า 1 นิ้ว อาจจะอยู่ในรูมากกว่าบนดิน พอโตแล้วนิสัยจะนิ่งขึ้น

ตู้เลี้ยง ควรมีพื้นที่กว้างให้มันเดิน
ใส่พีทมอส หรือ ขุยมะพร้าวหนาๆประมาณ 2-3 นิ้วขึ้นไป เพราะพฤติกรรมขุดอุโมงค์ของมันทำให้ต้องมีวัสดุรองพื้นในตู้ให้มันขุด
ถ้าวัสดุรองพื้นตื้นไป จะขัดกับธรรมชาติของมัน
สถานที่เลี้ยงควรแห้ง แต่ควรฉีดน้ำให้ด้านหนึ่งชื้นเป็นครั้งคราว มีถาดน้ำใส่ไว้ตลอดเวลา


Koh Samui Island Dwarf
silver grey
Ornithoctonus sp. koh samui
Ornithoctonus sp. malthai
บึ้งแคระ เกาะสมุย

อุณหภูมิเลี้ยง 25 องศา ถึง 29 แต่เนื่องจากถิ่นของมันมาจากไทย จึงอาจทนร้อนได้กว่านี้
ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%
ภาชนะ : เป็นสายพันธุ์ที่ชอบขุด ปูพื้นด้วยพีทมอส 3-4 นิ้ว (หาซื้อได้ง่าย จากร้านขายต้นไม้) จะผสมด้วยกาบมะพร้าวก็ได้
เราไม่ต้องใส่ที่ซ่อนตัวให้ทารันทูล่าพันนี้ เพราะเดี๋ยวมันจะทำเอง

อาหาร : ตอนตัวเล็ก (Sling) แมงหวี่เด็ดปีก / ลูกจิ้งหรีด/ หนอนนกตัดหัว (มันจะได้ไม่มุดดินหนี)  ตอนโตให้จิ้งหรีด  2 ตัวต่อหนึ่งอาทิตย์ มันจะโจมตีเหยื่อก่อนลากลงรู
น้ำ : ใส่ถาดน้ำเล็กๆไว้   ตอนที่ยังไม่โต ให้ใช้สเปรย์ฉีดน้ำเพียงเล็กน้อยไปที่ด้านหนึ่งของภาชนะที่เลี้ยงแทน  แต่ปรกติทารันทูล่าก็ได้น้ำที่อยู่ในตัวเหยื่ออยู่แล้ว
อัตราการเติบโต: ค่อนข้างเร็ว สามารถโตถึง 2 นิ้ว ภายในปีเดียว
ขนาดตอนโต  เป็นสายพันแคระ ตอนโตจึงประมาณ 3 นิ้ว

นิสัย: ตัวที่โตเต็มที่ไม่ค่อยดุ  อาจมีการขู่ด้วยท่าชูขาบ้าง แต่ส่วนมากจะไม่โจมตี แต่วิ่งหนีซะมากกว่า
ความคิดเห็นอื่นๆ: เป็นทารันทูล่าที่ชอบหลบซ่อนแต่ในรู เจ้าของเว็ปmikebasictarantula พยายามไม่ให้มันเอาพีทมอสมาปิดหน้ารูที่มันอยู่ เพื่อจะได้เห็นกิจกรรมของทารันทูล่าชัดๆ

เป็นทารันทูล่า ที่ไม่เหมาะกับมือใหม่